ค่า Trip และ ODO คืออะไร?

ค่า Trip และ ODO คืออะไร?

12 January 2023
ค่า Trip และ ODO คืออะไร?


ค่า Trip และ ODO คืออะไร ทำไมบนหน้าปัดเรือนไมล์ทั้งรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ มีบอกไว้เหมือนกัน แต่ละตัวมีความหมายว่าอย่างไร ใช้บอกอะไร และควรใช้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบครับ

ค่า Trip และ ODO คือมาตรวัดระยะทางการขับขี่รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์คันนั้นๆ โดยค่าทั้ง 2 ตัวนี้จะมีการรับข้อมูลจากแหล่งเดียวกัน แต่จะทำหน้าที่บอกข้อมูลที่แตกต่างกัน โดยจำแนกออกมาได้หลักๆ ดังนี้

 

ODO คืออะไร

ODO หรือชื่อเต็มๆ ว่า ODO Meter หรือที่เราเรียกกันติดปากว่าเลขไมล์ของตัวรถ ที่เรามักจะเรียกกัน ทำหน้าที่เป็นตัวบันทึกระยะทางขับขี่ของรถคันนั้นๆ ทั้งหมด ตั้งแต่มันถูกผลิตขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยตัว ODO นี้ จะไม่สามารถรีเซ็ทตัวเลขได้ด้วยตนเอง (แต่ก็สามารถทำได้ด้วยผู้ชำนาญการ) โดยชื่อเรียกของ ODO มีหลายแบบ ไม่ว่าจะเป็น KM, Mile เป็นต้น

 

โดยค่า ODO นี้ นอกจากใช้ในการบันทึกจำนวนระยะทางที่ขับขี่มาแล้วของรถคันนั้นๆ ยังเป็นตัวบ่งบอกการใช้งานของรถคันนั้นๆ ด้วยว่าใช้มามากหรือน้อยแค่ไหน มีผลอย่างมากในการขายรถต่อให้กับผู้อื่น ซึ่งถ้าเป็นรถที่มีเลข ODO น้อย (ไมล์น้อย) มักจะได้ราคาดีกว่ารถที่มี ODO สูง (ไมล์สูง,ไมล์เยอะ) เนื่องจากเป็นการบ่งบอกวิธีหนึ่งว่ารถคันนั้นๆ ใช้งานน้อยนั่นเอง แต่ก็ใช่ว่ารถคันนั้นๆ จะขับน้อย ไมล์ก็น้อยซะทีเดียว เพราะรถยนต์ที่วิ่งในเมืองส่วนใหญ่โดยไม่ค่อยได้วิ่งทางไกล ก็มักจะมีไมล์น้อยเช่นกัน แต่อาจจะมีอายุการใช้งานที่มาก

 

กล่าวคือ ระยะทางขับขี่น้อย แต่ชั่วโมงการทำงานมากนั่นเอง ตัว ODO Meter จะไม่ได้คลอบคลุมการตรวจวัดถึงจุดนี้

 

TRIP คืออะไร

TRIP หรือชื่อเต็มๆ ว่า TRIP Meter จะทำหน้าที่เป็นมาตรวัดระยะทางการขับขี่คล้ายกับ ODO แต่ผู้ใช้งานจะสามารถกดรีเซ็ทค่าให้เป็น 0 ได้ โดยตัวมิเตอร์นี้ จะทำหน้าที่วัดระยะทางขับขี่ตั้งแต่จุดที่เรารีเซ็ท ไปถึงจุดหมายปลายทางที่เราไป โดยมาตรวัดตัวนี้ผู้ใช้งานอาจจะนำไปใช้คำนวณระยะทางขับขี่ต่อครั้ง หรือจะเอาไปวัดระยะทางใช้งานในแต่ละวันก็สุดแล้วแต่ โดยตัวทริปมิเตอร์นี้ ส่วนใหญ่จะมีทั้งแบบทริปเดียว หรือ 2 ทริป ซึ่งแบบ 2 ทริปนี้ก็จะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปแล้วแต่ค่ายผู้ผลิตรถอีก ทั้งแบบ Trip A, Trip B และ Trip 1, Trip 2 ซึ่งมันก็คือตัวเดียวกัน มีหลักการทำงานเหมือนกัน

 

สถานการณ์ที่ผู้ขับขี่ส่วนใหญ่ มักนิยมใช้จับทริป ยกตัวอย่างเช่น

1. วัดระยะทางการขับขี่ในแต่ละวัน

2. วัดระยะทางการขับขี่ในการเดินทางข้ามจังหวัด

3. วัดระยะทางขับขี่ต่อน้ำมัน 1 ถัง

 

ค่า Trip และ ODO แตกต่างกันอย่างไร

โดยสรุปแล้ว ค่า Trip และ ODO มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน และมีจุดประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกัน อย่าง ODO ทำหน้าที่วัดระยะทางการใช้งานรถตั้งแต่รถถูกผลิตขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยที่ผู้ใช้ไม่สามารถรีเซ็ทได้ ส่วน Trip คือมาตรวัดระยะทางที่ผู้ใช้สามารถกำหนดเองได้ว่าจะใช้งานมันอย่างไร และสามารถรีเซ็ทด้วยตนเองได้

 

ข้อมูลจาก : autospinn.com