เหตุการณ์เสี่ยงภัยอย่างรถสตาร์ตไม่ติด รถดับกลางอากาศ โดยเฉพาะเมื่ออยู่คนเดียวในสถานที่เปลี่ยว อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ดังนั้นบทความนี้จะมาพูดถึงสาเหตุของอาการรถดับกลางอากาศ และวิธีรับมือที่ปลอดภัยทั้งรถและผู้ใช้รถ
สาเหตุที่ทำให้รถดับกลางอากาศ
รถดับกลางอากาศ เป็นอาการความผิดปกติของรถที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นระบบไฟ ระบบเครื่องยนต์ หรือส่วนประกอบของรถชำรุด ส่งผลให้รถไม่สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ ทำให้เครื่องยนต์ดับเองขณะขับ โดยมีสาเหตุหลัก ๆ ดังต่อไปนี้
เครื่องยนต์ร้อนเกินไป
รถรุ่นใหม่มักจะเผชิญกับสาเหตุนี้มากกว่ารถรุ่นเก่า เพราะมีระบบป้องกันเครื่องยนต์เสียหาย เมื่อพบว่าเครื่องยนต์มีอุณหภูมิที่สูงเกินไป ทำให้รถปิดระบบทำงานโดยอัตโนมัติเพื่อรักษาความปลอดภัยของเครื่องยนต์
หัวเทียนและคอยล์จุดระเบิด
เกิดจากความเสื่อมสภาพของหัวเทียนและคอยล์จุดระเบิด ที่ถูกใช้งานมาเป็นระยะเวลานาน แนะนำสำหรับผู้ที่เดินทางไกล ให้ตรวจเช็กในส่วนนี้ด้วย หากพบว่ามีการชำรุดหรือเสื่อมสภาพ ให้รีบเปลี่ยนใหม่โดยทันที
ปั๊มและกรองน้ำมันเชื้อเพลิงเสื่อม
ปั๊มและกรองน้ำมันเชื้อเพลิง มีกำหนดระยะเวลาเปลี่ยนที่ชัดเจน โดยสำหรับปั๊มน้ำมันเชื้อเพลิงจำเป็นต้องเปลี่ยนทุก ๆ 5 ปี และกรองน้ำมันเชื้อเพลิง ต้องเปลี่ยนทุก ๆ 25,000 กิโลเมตร เพื่อป้องกันการอุดตันภายในเครื่องยนต์ ส่งผลให้รถสตาร์ตได้ยากขึ้น และรถดับกลางอากาศในที่สุด
หัวฉีดมีปัญหา
ถ้าสาเหตุมาจากหัวฉีดมีปัญหา จะมีอาการเตือน ได้แก่ รถกระตุกหรือสะดุดขณะขับ อันเนื่องมาจากการที่มีสิ่งสกปรกไปอุดตันที่หัวฉีดจำนวนมาก ส่งผลให้หัวฉีดจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้ ทำให้เกิดอาการเครื่องยนต์ดับนั่นเอง
ลิ้นปีกผีเสื้อสกปรก
ลิ้นปีกผีเสื้อจะส่งผลโดยตรงกับรอบเดินรถ หากเกิดความสกปรกจะทำให้ลิ้นปีกผีเสื้อทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ รอบเดินรถจะต่ำลง ส่งผลให้รถดับขณะที่ขับขี่ แนะนำให้ล้างทำความสะอาดลิ้นปีกผีเสื้อทุก ๆ รอบระยะ 50,000 กิโลเมตร
วิธีรับมือเมื่อรถดับกลางอากาศ
เมื่อเกิดสถานการณ์รถดับกลางอากาศ วิธีรับมืออย่างแรก คือ ผู้ใช้รถต้องตั้งสติให้ดี เปิดไฟฉุกเฉิน ค่อย ๆ ผ่อนแรงรถ และหาจุดจอดที่ปลอดภัย ปลดเกียร์ว่าง จากนั้นติดต่อศูนย์บริการรถเพื่อขอความช่วยเหลือ ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ หากอยู่สถานที่เปลี่ยวเพียงลำพัง แนะนำให้ลดกระจกลงเล็กน้อยให้อากาศถ่ายเทได้ และล็อกประตูรออยู่ในรถ โทรแจ้งครอบครัวและแชร์ตำแหน่งที่เกิดเหตุ เพื่อความปลอดภัยของทั้งรถและตัวคุณเอง
- ขอบคุณสาระดีๆจาก www.toyotasure.com