รถเหินน้ำคืออะไร? ขับขี่แบบไหนถึงจะปลอดภัย?
อาการเหินน้ำคืออะไร ?
อาการเหินน้ำ (Hydroplaning) คือ อาการที่ล้อรถยนต์ไม่สามารถสัมผัสกับพื้นถนนได้อย่างเต็มที่ อันเนื่องมาจากมีน้ำเข้ามาแทรก เกิดเป็นช่องว่างระหว่างล้อรถและพื้นถนน ทำให้ยางรถยนต์ไม่เกาะกับพื้นผิวถนน ส่งผลให้ผู้ขับขี่สูญเสียการควบคุมรถและไม่สามารถเบรกรถได้ รวมไปถึงยังทำให้รถเสียการทรงตัวจนเกิดอุบัติเหตุได้
รถเหินน้ำ เกิดจากอะไรบ้าง ?
1.ความเร็วของรถยนต์
หากรถยนต์วิ่งมาด้วยความเร็ว มีโอกาสสูงที่ยางรถยนต์จะไม่สามารถรีดน้ำได้ทันท่วงที ทางที่ดีหากต้องขับรถในช่วงฝนตก ควรจำกัดความเร็วอยู่ที่ไม่เกิน 80 กิโลเมตร/ชั่วโมง เพื่อลดการเกิดอาการเหินน้ำ
2.ลักษณะของพื้นผิวถนน
หากถนนเป็นพื้นคอนกรีตผิวเรียบ มีความขรุขระน้อย จะสามารถเกิดอาการเหินน้ำได้ง่ายกว่าพื้นถนนที่เป็นยางมะตอย เพราะถนนแบบยางมะตอยจะมีพื้นผิวที่ขรุขระ มีร่องและรูตามผิวถนน ทำให้ยางรถยนต์สามารถเกาะถนนได้ดีกว่า
3.ดอกยางของรถยนต์
อย่างที่รู้ ๆ กันว่าดอกยางรถยนต์ทำหน้าที่ในการรีดน้ำออก เมื่อหน้ายางสัมผัสกับผิวถนนที่เปียก ซึ่งหากยางรถยนต์เริ่มมีดอกยางที่บาง อันเนื่องมาจากการเสื่อมสภาพจากการใช้งานหรืออายุของยางที่นานเกินไป ก็ส่งผลให้ดอกยางมีประสิทธิภาพในการรีดน้ำน้อยลงและเกิดอาการเหินน้ำได้
วิธีป้องการอาการเหินน้ำ
- ลดความเร็วในการขับขี่ขณะฝนตก เพื่อช่วยให้ยางรถยนต์ยึดเกาะกับถนนและรีดน้ำออกได้เต็มประสิทธิภาพ
- ขับขี่รถยนต์ด้วยความระมัดระวัง ควรจับพวงมาลัยให้มั่น เพื่อควบคุมและสามารถบังคับรถยนต์ได้ทันท่วงที หากรถยนต์มีทิศทางที่เปลี่ยนไป
- หลีกเลี่ยงการขับรถผ่านแอ่งน้ำ เพราะอาจทำให้รถเหินน้ำและลื่นไถลออกนอกเส้นทาง ในกรณีที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการขับผ่านแอ่งน้ำได้ ควรชะลอความเร็วเมื่อขับรถผ่านแอ่งน้ำ
- สำหรับรถยนต์ที่มีระบบ Traction Control System ควรเปิดไว้ตลอดเวลา ซึ่งระบบนี้จะทำหน้าที่ป้องกันล้อหมุนฟรีและควบคุมการลื่นไถล